งานแนวลอฟท์ที่ผมจะเปรียบเทียบต้นทุนให้ดู เป็นแนว
ท่อประปา และ
เหล็กกล่องเชื่อม เอาไว้เป็นแนวทางสำหรับนัก DIY ในการเตรียมความพร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย หรือ ผู้ที่สนใจงานทั้งสองแบบ ให้เข้าใจลักษณะความแตกต่างเรื่องโครงสร้าง จะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นดังนี้ครับ
ตัวอย่างที่นำมาเปรียบเทียบเป็นชั้นติดผนัง
ทั้ง 2 แบบเป็นชั้นติดผนังขนาด 1 x 1 เมตร ใช้ท่อประปา 4 หุน และ เหล็กกล่อง 1 นิ้ว ประมาณ 9 เมตร ... แต่ถ้าไปซื้อที่ร้าน เขาขายเป็นเส้น เส้นละ 6 เมตร จึงคำนวนราคาที่ 2 เส้นนะครับ
จากราคาในตาราง งานท่อประปาต้นทุนอาจจะถูกลงกว่านี้ประมาณ 10% เพราะ ร้านที่สร้างงานแนวนี้ จะซื้อวัสดุปริมาณมาก ทำให้ราคาต่อชิ้นถูกลง
แต่สิ่งที่ผมจะสื่อให้ดูคือเรื่องต้นทุนที่แตกต่างกันเกือบเท่าตัว ซึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้งานท่อประปามีต้นทุนที่สูงกว่า คือ จำนวนท่อน ซึ่ง สัมพันธุ์กับจำนวนเกลียวที่จะต๊าปหัวท้าย และ ปัจจัยสำคัญคือจำนวนข้อต่อที่ใช้... ในขณะที่งานเหล็กกล่องใช้แค่ลวดเชื่อมประมาณครึ่งกล่องเท่านั้น แต่ช่างที่เชื่อมต้องมีทักษะ งานถึงจะออกมาสวย
การออกแบบ ก็เป็นอีกตัวแปรที่สามารถช่วยลดต้นทุนของงานท่อประปาได้ ว่าต้องการแนวโชว์โครงสร้างที่ใช้ข้อต่อเยอะ หรือ แนวใช้งานที่เน้นแค่การกอดประกอบได้... แต่การออกแบบก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกันในเรื่องทิศทางของท่อ เมื่อออกแบบแล้วต้องประกอบได้ เพราะ จะถูกบังคับด้วยเกลียวที่หมุนทิศทางเดียว
ข้อดีข้อเสียของงานทั้งสองแบบคือ
1. งานเหล็กกล่องจะมีราคาที่ถูกกว่า เพราะ ต้นทุนถูกกว่า ถึงแม้ต้องทำสีกันสนิมเพิ่มเติมขึ้นมา แต่ก็ยังมีตันทุนถูกกว่าอยู่ดี เพราะ ต้นทุนการทำสีเหล็กกล่องจะอยู่ประมาณ 500-600 บาท สำหรับโครงสร้างขนาด 1 x 1 เมตร
2. งานท่อประปาสามารถแยกชิ้นส่วนได้ มีข้อดีในเรืองค่าส่งที่ถูกกว่า เช่น ตัวอย่างที่ยกมา งานเหล็กกล่องค่าส่งพัสดุประมาณ 800-1000 บาท แต่งานท่อประปาค่าส่งจะประมาณ 120-200 บาท... และ การเปลี่ยนชิ้นส่วน การประยุกต์ดัดแปลง งานท่อประปาจะเปลี่ยนง่ายกว่า ถูกกว่าเพราะแยกชิ้นได้นั่นเอง
3. ความสวย การโชว์โครงสร้าง ท่อประปาจะดูสวยกว่าอยู่แล้ว
4. การทำสีท่อประปากัลวาไนต์ ในกรณีที่ต้องการทำสีดำ จะมีราคาที่สูงกว่าเหล็กธรรมดา เพราะ ผิวที่ลื่น มันวาว ป้องกันสนิม ทำให้ใช้สีรองพื้นอุตสาหกรรมธรรมดาไม่สามารถเกาะติดแน่นได้ จะหลุดลอกง่ายออกเป็นแผ่นๆ จึงจำเป็นต้องใช้สีรองพื้นเฉพาะของท่อกัลวาไนต์เท่านั้น ค่าต้นทุนทำสีท่อกัลวาไนต์ชุดที่ยกตัวอย่างมาจะอยู่ที่ประมาณ 900 - 1000 บาท
ราคาวัสดุ และ เกรดที่เลือก
ราคาอุปกรณ์ที่ผมนำมาคำนวน อ้างอิงจากในอินเตอร์เน็ตนะครับ บางร้านอาจจะถูกหรือแพงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณที่สั่งซื้อ เกรดวัสดุ และ แหล่งที่มา ยกตัวอย่างให้ดูดังนี้ครับ
ท่อผมใช้ 1/2 คาดน้ำเงินเท่านั้น ราคา 573 บาทต่อเส้น
ที่ใช้คาดน้ำเงินเพราะ ผนังท่อจะหนาเมื่อต๊าปเกลียวจะเกิดร่องเกลียวเข้าไปในเนื้อเหล็ก และ เนื้อเหล็กที่เหลือจากเกลียวจะเยอะกว่า ดังนั้นจะแข็งแรงกว่าคาดสีอื่นๆ ... ส่วนท่อดำผมไม่ค่อยใช้ ถึงแม้ราคาจะถูกกว่า แต่ไม่ชอบเรื่องสนิม ถึงจะทำสีภายนอก สนิมก็จะเกิดจากด้านในท่อออกมา... ถ้าอยากได้สีดำ ก็ทำสีท่อกัลวาไนต์ดีกว่า จ่ายเพิ่มอีกนิด ใช้งานได้ยาวๆถึงลูก ถึงหลานเลยดีกว่า
เหล็กกล่อง 1 นิ้ว ผมเลือกความหนา 2.3 มม. ราคาเส้นละ 214.20 บาท
จะเลือกเหล็กที่บางกว่านี้ก็ได้ แต่ผมมั่นใจที่ความหนามากกว่า 2 มม. เพราะจะได้ความแข็งแรงของแนวเชื่อมมากกว่า
ส่วนราคาข้อต่อ ผมจะยกตัวอย่าง 1 ตัว เช่น สามทาง หรือ สามตา ขนาด 1/2" ราคา 26.50 บาทต่ออัน ถ้าซื้อเยอะก็จะมีส่วนลด เช่น เป็นถุง 20 ตัว หรือเป็นลัง 500 ตัว... แต่ผมจะคำนวนเป็นชิ้น เพราะ DIY ทุกคนคงจะซื้อปริมาณเท่าที่ต้องใช้เท่านั้น 555 ... อีกอย่างที่ควรระวังคือของเกรดต่ำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ผิวข้อต่อจะบาง ขนาดจะเล็กกว่ามาตราฐาน และ รูเกลียวจะไม่ค่อยตรง ทำให้เมื่อหมนท่อเข้าไปแล้วจะเอียง ทำให้ประกอบยาก และ ไม่สวย... สำหรับนัก DIY ผมแนะนำข้อต่อของ BC ครับ คุณภาพมาตราฐาน
หวังว่าโพสต์นี้จะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เพื่อช่วยในการตัดสินใจเบื้องต้น และ ให้เข้าใจในต้นทุนของงานแบบเดียวกัน แต่ใช้วัสดุต่างกันครับ
ถึก ธนูทอง
088-4315597
Line: pompokkam